Location: เชียงใหม่
Owner: ดำรงศักดิ์ รอดเรือน
Architect: Mitr Architects
ภาพของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทยในความคิดคุณเป็นอย่างไร? เชื่อว่าหนึ่งในคำตอบที่หลายคนนึกถึง คือภาพของบ้านทรงไทย ยกใต้ถุนสูง หลังคาจั่ว องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เราคุ้นเคยกันอย่างแน่นอน แต่ภาพของ ‘บ้านมิตร’ ในเชียงใหม่หลังนี้แตกต่างออกไป แม้ภายนอกจะดูเรียบง่าย แต่ภายในกลับซ่อนความหมายใหม่ของสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นภาคเหนือเอาไว้อย่างน่าสนใจ ภายใต้การออกแบบพื้นที่ให้เป็นทั้งบ้านและสตูดิโอถ่ายภาพ ซึ่งคุณเม่น-ดำรงศักดิ์ รอดเรือน ในฐานะเจ้าของบ้านก็ได้ไว้ใจให้มิตรสหายสมัยเรียนอย่างคุณโน้ต- วรรัตน์ รัตนตรัย,คุณเบล-พีระพงษ์ พรมชาติ และคุณตั้ม-เกรียงไกร กันนิกา” สถาปนิกจาก Mitr Architects มาออกแบบบ้านของตนให้เกิดขึ้นจริงท่ามกลางบรรยากาศดีๆ ในเมืองเชียงใหม่
“ผมอยากได้บ้านที่รองรับการอยู่อาศัยของสมาชิกในครอบครัวทั้ง 3 คน คือคุณแม่ คุณน้า และผม และมีสตูดิโอถ่ายภาพด้วยในตัวเพื่อตอบโจทย์การทำงานในอาชีพช่างภาพที่ผมรัก โดยอยากให้แยกการใช้งานของฟังก์ชันทั้งสองออกจากกันอย่างชัดเจน แยกทางเข้า-ออก เพื่อความเป็นส่วนตัวและสะดวกสบายมากกว่า”
ด้วยความที่เป็นบ้านหลังหัวมุมและตั้งอยู่บนที่ดินรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ทำให้มีพื้นที่เชื่อมต่อกับถนนถึงสามด้าน ทีมสถาปนิกจึงเริ่มต้นจากการจัดวางฟังก์ชันระหว่างบ้านพักอาศัยและสตูดิโอถ่ายภาพขนาด 6×10 เมตร โดยมีทางเข้า-ออกแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อความเป็นส่วนตัวในณะมีคนมาเช่าสตูดิโอถ่ายภาพตามความต้องการของเจ้าของ แต่ทั้งสองฟังก์ชันยังคงใช้โครงสร้างและผนังร่วมกัน เมื่อมองจากภายนอกเสมือนอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน ซึ่งตำแหน่งของบ้านและสตูดิโอถูกวางให้ค่อนไปทางด้านหลังของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้พื้นที่ด้านหน้ามีขนาดมากพอที่จะสร้างสวนสีเขียวที่ให้ความร่มรื่นตลอดทุกช่วงเวลา
แปลนของบ้าน
สตูดิโอถ่ายภาพด้านหลังบ้าน
“อยากออกแบบให้บ้านมีความใกล้ชิดเป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุด นอกจากบริบทรอบๆแล้ว เรายังออกแบบสวนกลางบ้านด้วย และออกแบบพื้นที่ชานยื่นออกมาจากตัวบ้าน 2 เมตร ยกพื้นชานให้สูง 0.40-0.50 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงเหมาะสำหรับการนั่งปล่อยเท้าให้สัมผัสกับพื้นหญ้าหน้าบ้าน”
สัดส่วนภายในบ้านออกแบบเน้นพื้นที่ส่วนกลางอย่างห้องนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหารให้มีขนาดกว้าง วางผังแบบ Open plan และออกแบบเสาไว้ด้านใน ล้อมรอบไปด้วยประตูและหน้าต่างกระจกใสทุกทิศทาง มีการเลือกใช้กระจกที่เข้ามุม เพื่อเปิดมุมมองออกไปสู่พื้นที่สีเขียวภายนอกได้กว้างมากขึ้น เป็นจุดเชื่อมต่อกันระหว่างบ้านและธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
“บ้านหลังนี้มีประตู หน้าต่าง และช่องแสงหลากหลายรูปแบบ เราจึงเลือกใช้กรอบบานประตูและหน้าต่างจากแบรนด์ทอสเท็ม (TOSTEM) ทั้งหลังครับ เพราะสามารถ Custom ขนาดได้ตามต้องการ เราเลือกใช้รุ่น P7 สี Shine Gray กับส่วนที่ล้อมรอบห้องนั่งเล่น โดยความพิเศษอยู่ที่ความแข็งแรง และสามารถรับความกว้างของบานประตูและหน้าต่างได้เต็มพื้นที่แม้ไร้ระยะเสามารองรับ ซึ่งส่วนตัวแล้วมั่นใจทั้งในเรื่องของคุณภาพ ทั้งกันเสียง กันน้ำ และสีสันที่โดดเด่นเฉพาะตัว” ทีมสถาปนิกกล่าว
นอกจากเปิดรับแสงธรรมชาติภายในห้องนั่งเล่นแล้ว ยังมีช่องเปิดพิเศษในส่วนอื่นๆที่น่าสนใจอย่างบริเวณโถงทางเดินที่มีการออกแบบหน้าต่างบานสไลด์ไว้ด้านล่างต่างจากบ้านปกติทั่วไปที่มักอยู่ด้านบน เพราะเป็นความตั้งใจของสถาปนิกที่อยากให้คนในบ้านนั่งซึมซับบรรยากาศ รวมถึงดึงแสงธรรมชาติเข้ามาจากด้านบนผ่านหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ที่เปิดรับแสงจากภายนอกเข้ามาสู่โถงทางเดินตรงกลางในเวลากลางวันด้วย
เนื่องจากทิศหน้าบ้านเป็นทิศตะวันตกที่มีแสงแดดตกกระทบตลอดในช่วงกลางวัน ชายคาป้องกันแสงแดดสาดส่องเข้ามายังพื้นที่ภายในบ้านอย่างห้องนั่งเล่นโดยตรง โดยระดับสัดส่วนที่กะทัดรัดพอดิบพอดีกับระดับสายตา เป็นการหยิบยกองค์ประกอบเล็กๆ ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคเหนือมาเล่าใหม่ในภาษาที่ดูทันสมัยขึ้น
วัสดุส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายจากท้องถิ่น อย่างไม้เนื้อแข็งเก่าที่ตอนนี้ถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นเสา 6 ต้นเรียงกันบริเวณหน้าบ้าน และชายคาที่ปลายยาวกว่าปกติ มีหน้าที่ช่วยประคองน้ำหนักของชายคาที่ยื่นออกมากกว่า 2 เมตรให้แข็งแรงมากขึ้น และเป็นสิ่งที่สถาปนิกต้องการจะสื่อสารความเป็นเชียงใหม่ออกมา
ตัวบ้านใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ดัดแปลงพื้นผิวของผนังคอนกรีตด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันไป มีทั้งเรียบ และขรุขระ ด้วยการกะเทาะออกเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับวัสดุภายในบ้าน ซึ่งการบำรุงรักษาวัสดุต่างๆอย่างไม้ที่มีการเคลือบน้ำยาในส่วนที่เป็นโครงสร้างรับน้ำหนัก ส่วนที่เหลือจะปล่อยไปตามธรรมชาติ ให้เวลาเป็นตัวเล่าเรื่องราวที่สวยงามของวัสดุ
“จริงๆวัสดุมันเป็นสเน่ห์ของบ้านอยู่แล้ว เราไม่สามารถเติมแต่งสีสันวัสดุได้ทั้งหมดของชีวิตเรา การที่ปล่อยให้วัสดุสวยงามไปตามกาลเวลา มันถึงจะเติมเต็มความเป็นบ้านในการอยู่อาศัย” สถาปนิกกล่าว
เมื่อความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทยในวันนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามรูปแบบที่เคยเป็นมาอีกต่อไป หากแต่การหยิบยกองค์ประกอบต่างๆมาเล่าใหม่ และคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ บริบท และผู้อยู่อาศัย นี่อาจจะเป็นอีกวิธีการที่รักษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทย เช่นเดียวกับบ้านมิตรสหายหลังนี้ก็เป็นได้
มาทำบ้านให้น่าอยู่กันเถอะ! 10 Tips ดีๆ เพื่อการปรับเปลี่ยนห้องให้อยู่สบาย พร้อมสุขลักษณะที่ดี
Graceland Family Residences – Chiangmai ‘บ้านรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตไปพร้อมกับลงทุนได้อย่างคุ้มค่า’
Plover Cove Luxury Villas กล้าที่จะแตกต่างทั้งฟังก์ชันและดีไซน์เพื่อคุณภาพชีวิตระดับลักซ์ชัวรี่
Double Skin House บ้านรักสงบที่ปิดมุมมองจากภายนอก เพื่อเปิดพื้นที่แห่งการอยู่อาศัยที่ถูกซ่อนไว้ภายใน
FENCE & GATE UNIQUE FEATURES ฟีเจอร์เฉพาะของรั้วทอสเท็ม เพื่อความงามและการใช้งานที่ลงตัว
GRAND PHETCHARAT โครงการระดับลักซ์ซัวรี่ไม่ได้ดีมีดีแค่ความหรูหรา แต่คือความใส่ใจในทุกรายละเอียด