‘บ้าน’ สถานที่อบอุ่นที่เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางสำหรับคนในครอบครัว เป็นทั้งปัจจัยสี่และเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนในครอบครัวให้ได้เวลาร่วมกันอย่างเต็มที่ บ้าน The other’s own place หลังนี้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของบ้านที่หยิบเอาความสำคัญของการอยู่อาศัยร่วมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยผู้อยู่อาศัยหลายช่วงอายุมาเป็นโจทย์หลัก โดยได้ คุณหนึ่ง-เอกภาพ ดวงแก้ว สถาปนิกจาก EKAR architects มาเป็นผู้ออกแบบ
คุณหนึ่ง-เอกภาพ ดวงแก้ว สถาปนิก จาก EKAR architects
โจทย์ของเจ้าของบวกกับโจทย์ของสถาปนิก เกิดเป็นงานออกแบบ
เริ่มจากโจทย์ของเจ้าของบ้านเป็นที่ตั้ง เดิมบ้านหลังนี้เป็นของครอบครัวคุณฝ้าย ซึ่งเป็นบ้านหลังเก่าบนที่ดินสองแปลงที่ถูกต่อเติมบริเวณชั้นหนึ่งให้กับคุณยายที่ป่วย กิจวัตรประจำของครอบครัวนี้ คือ ในทุกๆ อาทิตย์ จะมีคนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเพื่อเยี่ยมคุณยาย คุณฝ้าย และคุณตูน ผู้เป็นสามีจึงตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่บ้านหลังนี้เพื่อที่จะได้ดูแลคุณยายได้อย่างใกล้ชิด โดยคิดจะสร้างบ้านอีกหนึ่งหลังขึ้นบนที่ดินแปลงหนึ่ง ทำให้ผู้อยู่อาศัยภายในบ้านเพิ่มจำนวนมาเป็น 8 คน ซึ่งก็คือ ครอบครัวคุณตูน คุณฝ้าย และลูกสาววัย 5 ขวบ คุณพ่อ คุณแม่ คุณยายของคุณฝ้าย รวมถึงน้องชายและภรรยา
“เรื่องหนึ่งที่นอกเหนือจากโปรแกรมที่ทางเจ้าของให้เรามา ก็คือเรื่องของสวน ผมมีความเชื่อว่า การที่จะทำให้การอยู่อาศัยดำเนินไปใกล้เคียงความเป็นบ้านมากที่สุด คือต้องอาศัยธรรมชาติเข้ามา เพราะฉะนั้นทุกงานผมจะพยายามเก็บตรงนี้ไว้ เป็นเหมือนของล้ำค่า เพราะมันจะทำให้คุณภาพการอยู่อาศัยนั้นดีขึ้น”
นอกจากความต้องการของเจ้าของแล้ว ยังมีความต้องการจากสถาปนิก เนื่องจากบ้านหลังนี้ เดิมมีบริเวณพื้นที่ด้านหน้าเป็นสวน แต่ด้วยจำนวนสมาชิกที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นครอบครัวใหญ่ ทำให้ฟังก์ชันที่จะเกิดขึ้นภายในค่อนข้างอัดแน่นเพื่อรองรับกิจกรรมของทุกคนในบ้าน สิ่งที่สถาปนิกต้องการเพิ่ม จึงเป็นการเก็บพื้นที่สวนเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับบ้าน และสร้างพื้นที่พักผ่อนสำหรับคุณยาย รวมถึงความเชื่อส่วนตัวของคุณหนึ่งเองที่เชื่อว่า ‘ธรรมชาติ’ นั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การอยู่อาศัยดำเนินไปได้อย่างมีความสุข
ผสมผสานฟังก์ชัน เพื่อประหยัดพื้นที่และสร้างความหลากหลาย
อีกหนึ่งแนวคิดสำคัญของบ้านหลังนี้ คือ การผสมผสานฟังก์ชันภายในบ้านเข้าด้วยกัน เพื่อประหยัดพื้นที่และในขณะเดียวกันก็ยังสร้างปฏิสัมพันธ์ให้กับครอบครัวมากขึ้น โดยใช้วิธีการผสมโปรแกรมของบ้านทั้งสามส่วนไว้ด้วยกัน นั่นก็คือ บ้านของน้องชาย บ้านของคุณตูนคุณฝ้ายและส่วนพื้นที่ชั้น 1 ของคุณยาย
โดยมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้งานของคุณพ่อไปอยู่ในส่วนบ้านของน้องชาย ส่วนพื้นที่ชั้น 1 ของคุณยายจะอยู่ในพื้นที่บ้านหลังใหม่ พื้นที่ห้องครัวจะอยู่ในพื้นที่ดินของบ้านน้องชาย ส่วนพื้นที่รับประทานอาหารและห้องนั่งเล่นจะอยู่ในบ้านหลังใหม่ การผสมฟังก์ชันแบบนี้ทำให้เกิดการใช้งานของพื้นที่ที่คุ้มค่ามากที่สุด รวมถึงยังทำให้ฟังก์ชันบางอย่างได้ขนาดของพื้นที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
โจทย์ทั้งสามอย่างหลักๆ ฟังก์ชันของบ้านที่ต้องมีให้ครบ บวกกับเงื่อนไขของคุณยายที่ต้องอยู่ชั้น 1 และพื้นที่สีเขียวที่ต้องการจะเก็บ ผู้ออกแบบจึงวางผังบ้านใหม่โดยบิดแกนของบ้านให้เป็นแนวแทยง เส้นแนวแทยงยาวที่สุดที่เกิดขึ้นจะทำให้พื้นที่ระหว่างบ้านเก่าและบ้านใหม่นั้นเชื่อมต่อถึงกัน และยังทำให้รู้สึกถึงความกว้างของบ้านมากกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงพื้นที่ทรงเหลี่ยมที่เกิดจากการบิดแกนยังสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ได้เพิ่มขึ้น ถือเป็นประโยชน์ที่ได้ถึงสามต่อเลยทีเดียว
โดยฟังก์ชันบ้านหลังนี้ บริเวณชั้น 1 จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนรวมและพื้นที่ของคุณยายเป็นหลัก ประกอบไปด้วยห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น และพื้นที่ของคุณยายที่เชื่อมไปยังระเบียง พื้นที่สีเขียวและที่จอดรถบริเวณด้านหน้า ส่วนพื้นที่ชั้นสองจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัวสำหรับครอบครัวคุณตูนและคุณฝ้าย บวกกับห้องนอนของคุณแม่ด้วย ส่วนชั้นสามจะเป็นส่วนตัวที่สุด โดยเป็นพื้นที่ห้องนอนของคุณตูนและคุณฝ้ายนั่นเอง
อีกหนึ่งส่วนที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักของบ้าน คือ ระเบียงด้านหน้า ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนสเปซที่ทักทายทุกคนก่อนแยกย้ายเข้าไปสู่พื้นที่ของตัวเอง ถือเป็นฟังก์ชันเดียวที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ของบ้านทั้งสองหลังและยังเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับสวนที่ทุกคนสามารถนั่งทำกิจกรรมร่วมกันได้ การออกแบบบ้านหลังใหม่ที่โอบล้อมบ้านหลังเก่า ยังทำให้บรรยากาศช่วงบ่ายของคอร์ดส่วนกลางของบ้านนั้นร่มรื่น และสามารถใช้งานได้เต็มพื้นที่ เนื่องจากมีลมพัดผ่านและไม่มีแดดส่องถึง
วัสดุที่ ‘contrast’ สร้างความรู้สึกที่พิเศษ
“ผมเชื่อว่ามนุษย์จะรับรู้ถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษขึ้นมาได้ เมื่อมันมีความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้ประสบการณ์การอยู่อาศัย รับรู้ถึงความกว้าง เราต้องทำให้มันรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่แคบมาก่อน ถ้าอยากให้รู้สึกโปร่ง มันก็ต้องค่อยๆ ทึบมาระดับนึง แล้วความรู้สึกนั้นมันจะกลายเป็นความรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ”
จากประเด็นข้างต้น คุณหนึ่งจึงออกแบบพื้นที่ภายนอกของบ้านหลังนี้มีลักษณะที่ค่อนข้างทึบตัน ซึ่งมีข้อดีในเรื่องของความเป็นส่วนตัว แต่ภายในนั้นจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง โดยจะรับรู้ได้ถึงความโล่ง โปร่งของพื้นที่ รวมถึงสามารถมองเห็นพื้นที่สีเขียวที่ซ่อนอยู่ภายใน นอกจากนั้นผู้ออกแบบยังสร้างขอบเขตของพื้นที่ด้วยจังหวะของช่องเปิด โดยบริเวณห้องนั่งเล่นชั้นสองนั้นจะมีการออกแบบช่องเปิดด้านข้างให้อยู่ในสัดส่วนที่สูงมากกว่าปกติ เพื่อให้คนที่ใช้งานในพื้นที่โฟกัสกับช่องเปิดที่เห็นพื้นที่สวนได้มากกว่านั่นเอง
ด้วยความคิดที่ใส่ใจในจังหวะของช่องเปิดนี้เอง ผู้ออกแบบจึงเลือกที่จะใช้กรอบบานหน้าต่างอลูมิเนียมของ TOSTEM สี Shine Grey อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ เนื่องจากต้องการให้สีกลมกลืนและเรียบง่ายที่สุด เพื่อไม่ให้แย่งความโดดเด่นจากธรรมชาติ ทำให้เราสามารถมองพื้นที่สีเขียวได้อย่างเต็มที่โดยไม่รู้สึกขัดมากนัก นอกจากนั้นการเลือกใช้วัสดุจาก TOSTEM นี้ยังเป็นความต้องการจากทางคุณตูน เจ้าของบ้าน ซึ่งประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานวัสดุ จึงทำให้มีความไว้วางใจในเรื่องของคุณภาพซึ่งเป็นมาตรฐานของแบรนด์ที่มีความแน่นหนา แข็งแรง รวมถึงการป้องกันการรั่วไหลเมื่อเกิดพายุเข้าหรือฝนตก
นอกจากกระจกบานฟิกซ์รุ่น WE PLUS ที่ทำให้มองเห็นพื้นที่สีเขียวแล้ว คุณหนึ่งยังเลือกใช้บานกระทุ้งและบานเลื่อนขนาดใหญ่ของ TOSTEM รุ่น WE70 เพื่อช่วยสร้างพื้นที่ให้ลมไหลผ่าน สร้างบรรยากาศห้องนั่งเล่นให้เหมาะกับการอยู่อาศัยมากขึ้นบานหน้าต่างเหล่านี้ ยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยดึงความเป็นธรรมชาติให้เข้ามาใกล้ผู้อยู่อาศัยได้มากขึ้นด้วย
“ผมมองว่าบ้านคือชีวิต เราจะอ้างอิงจากโปรแกรมที่ลูกค้าบอกเราอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ออกแบบแค่ฟังก์ชัน แต่เราออกแบบทั้งชีวิตให้เขา เขาอ่านชีวิตตัวเองออกได้ในฐานะที่เขาเป็นเจ้าของชีวิต แต่เขาไม่ได้เรียนรู้ว่าจะนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับใช้กับสถาปัตยกรรมอย่างไร”
ในผลงานขั้นสุดท้าย บ้านหลังนี้ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ความต้องการของครอบครัวใหญ่หลายช่วงอายุ แต่ฟังก์ชันหลักและฟังก์ชันที่ทางผู้ออกแบบเสริมเข้ามา ยังถือเป็นตัวช่วยที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวและมีความสุข
มาทำบ้านให้น่าอยู่กันเถอะ! 10 Tips ดีๆ เพื่อการปรับเปลี่ยนห้องให้อยู่สบาย พร้อมสุขลักษณะที่ดี
Graceland Family Residences – Chiangmai ‘บ้านรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตไปพร้อมกับลงทุนได้อย่างคุ้มค่า’
Plover Cove Luxury Villas กล้าที่จะแตกต่างทั้งฟังก์ชันและดีไซน์เพื่อคุณภาพชีวิตระดับลักซ์ชัวรี่
Double Skin House บ้านรักสงบที่ปิดมุมมองจากภายนอก เพื่อเปิดพื้นที่แห่งการอยู่อาศัยที่ถูกซ่อนไว้ภายใน
FENCE & GATE UNIQUE FEATURES ฟีเจอร์เฉพาะของรั้วทอสเท็ม เพื่อความงามและการใช้งานที่ลงตัว
GRAND PHETCHARAT โครงการระดับลักซ์ซัวรี่ไม่ได้ดีมีดีแค่ความหรูหรา แต่คือความใส่ใจในทุกรายละเอียด